วันพฤหัสบดีที่ 4 มีนาคม พ.ศ. 2553

ธูปมรณะ

พบควันธูปตัวก่อสารเกิดมะเร็ง!! นักวิจัยค้นพบธูปที่จุด 1 ดอก มีสารก่อมะเร็งไม่ต่างจากบุหรี่ 1 มวน หากจุดแค่ 3 ดอก ในบ้านก่อมลพิษเท่าสี่แยกไฟแดงที่มีการจราจรคับคั่ง ไม่เว้นแม้แต่ธูปแบบไร้ควันและอโรมา เผยศาลเจ้าย่านเยาวราชเป็นแหล่งศูนย์รวมสารก่อมะเร็งที่ต้องเฝ้าระวังควันธูปปะปนไปด้วยสารต่างๆ มากมาย ทั้งฝุ่นละอองขนาดเล็ก ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ คาร์บอนมอนอกไซด์ ไนโตรเจนออกไซด์ มีเทน รวมถึงสารชื่อแปลกๆ อีก 3-4 ชนิด ซึ่งก็คงไม่ได้สลักสำคัญอะไร หากมันไม่ได้ถูกให้คำจำกัดความจากแพทย์ว่าเป็น สารก่อมะเร็ง ตัวฉกาจ
ควันธูปสีขาวลอยคละคลุ้งอยู่เหนือแท่นบูชา ชวนให้นึกถึงบรรยากาศแห่งความศักดิ์สิทธิ์ การอธิษฐาน การเชื่อมโยงโลกแห่งความจริงกับโลกทางจิตวิญญาณ แต่เคยนึกสงสัยหรือไม่ว่า ควันสีขาวที่ดูบริสุทธิ์ นุ่มนวล และมีมนต์ขลังนั้น มีอะไรปะปนอยู่บ้าง ข้อสังเกตง่ายๆ ที่หลายคนรู้สึกได้ด้วยตัวเอง เช่น แสบตา ไอ หรือจาม คือปัจจัยแรกๆ ที่ทำให้เกิดการตั้งคำถามถึงสารที่ถูกปล่อยออกมาพร้อมกับการเผาไหม้ ผลการวิจัยทั้งในและต่างประเทศในรอบหลายปีที่ผ่านมาต่างยืนยันว่า ควันธูปปะปนไปด้วยสารต่างๆ มากมาย ทั้งฝุ่นละอองขนาดเล็ก ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ คาร์บอนมอนอกไซด์ ไนโตรเจนออกไซด์ มีเทน รวมถึงสารชื่อแปลกๆ อีก 3-4 ชนิด เช่น ฟอร์มาดีไฮด์ เบนซีน บิวทาไดอีน ซึ่งก็คงไม่ได้สลักสำคัญอะไร หากมันไม่ได้ถูกให้คำจำกัดความจากแพทย์ว่าเป็น "สารก่อมะเร็ง" ตัวฉกาจ นายแพทย์มนูญ ลีเชวงวงศ์ หัวหน้า ไอ ซี ยู โรงพยาบาลวิชัยยุทธ เป็นผู้หนึ่งที่ตั้งข้อสงสัยเกี่ยวกับเรื่องนี้ เนื่องจากประสบการณ์ในการรักษาผู้ป่วยโรคมะเร็งพบว่า หลายคนโดยเฉพาะผู้หญิงไม่ได้มีประวัติสูบบุหรี่หรืออยู่ใกล้ชิดกับผู้สูบบุหรี่ และไม่มีประวัติสัมผัสกับสารก่อมะเร็งจากการประกอบอาชีพ คุณหมอจึงได้ร่วมกับสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ ทำการการประเมินผลกระทบต่อสุขภาพของคนงานที่ปฏิบัติงานในวัด 3 แห่ง ในจังหวัดอยุธยา ฉะเชิงเทรา และสมุทรปราการ จำนวน 40 คน เปรียบเทียบกับคนงานในหน่วยงานที่ไม่มีการจุดธูปจำนวน 25 คน ซึ่งคำตอบที่ได้อาจทำให้หลายคนต้องยกมือปิดจมูกทันทีเมื่อได้กลิ่นธูป เนื่องจากตัวเลขยืนยันว่า ควันธูปที่คละคลุ้งอยู่ในวัดต่างๆ มีปริมาณสารก่อมะเร็งสูงยิ่งกว่านิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุดเสียอีก “ตามปกติสาร 3 ตัวที่เราพบทั่วโลกยืนยันว่าเป็นสารก่อมะเร็งอยู่แล้ว แต่เราอยากทราบถึงปริมาณที่พบในวัดต่างๆ ซึ่งพอไปวัดดูก็พบว่า มีสารเบนซีนถึง 94 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ถ้าเทียบกับปริมาณที่ระบุว่าอยู่ในระดับที่ปลอดภัย คือเบนซีนความเข้มข้นไม่ควรเกิน 1.7 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร ขณะที่ชุมชนแถวมาบตาพุดพบเพียง 2.2- 3.7 เท่านั้น ที่เราพบในวัดสูงกว่านั้นนับสิบเท่า ถามว่าอันไหนตื่นเต้นกว่ากัน” “สำหรับบิวทาไดอีน ตามมาตรฐานระบุว่าไม่ควรเกิน 0.33 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร ที่มาบตาพุดวัดได้ 0.55, 0.43 แต่ที่เราพบในวัด 11 ไมโครกรัม ต่างกันเกินสิบเท่า สูงกว่าที่เขากังวล มากกว่าในมาตรฐาน ซึ่งในการศึกษาเรามีการเปรียบเทียบสถานที่ที่จุดธูปกับไม่จุดธูปด้วย เพื่อยืนยันว่าในบรรยากาศที่ที่มีการจุดธูปเยอะๆ มีสารก่อมะเร็งในปริมาณที่แตกต่างกันมาก” ถึงตอนนี้ถ้าใครยังนึกไม่ออกว่า พิษภัยของควันธูปนั้นร้ายแรงแค่ไหน คุณหมอเปรียบเทียบให้เห็นชัดๆ ว่า "ธูป 1 ดอกที่ถูกจุด มีปริมาณสารก่อมะเร็งไม่ต่างจากบุหรี่ 1 มวน" เลยทีเดียว ภัยร้ายใกล้มะเร็งแม้ว่าการพบสารก่อมะเร็งในควันธูปจะไม่ใช่เรื่องใหม่ในแวดวงการวิจัย แต่การศึกษาหาความเชื่อมโยงกับความเสี่ยงในการเป็นมะเร็งของผู้ที่สูดดมควันธูปอยู่เป็นประจำถือเป็นครั้งแรกที่มีการศึกษาวิจัยอย่างจริงจัง โดยการค้นหาความจริงในครั้งนี้ นอกจากจะมีการตรวจวัดปริมาณสารก่อมะเร็งทั้ง 3 ชนิดในอากาศบริเวณที่มีการจุดธูป และปริมาณการได้รับสารก่อมะเร็งเหล่านี้ในคนงานขณะปฏิบัติงาน ตลอดจนการวัดระดับของดัชนีชี้วัดของการได้รับสารก่อมะเร็งแล้ว การวิจัยยังได้ทำการประเมินผลกระทบต่อสุขภาพ โดยใช้ดัชนีชี้วัดของการเปลี่ยนแปลงทางชีวภาพในระยะเริ่มต้น ได้แก่ การตรวจวัดระดับการทำลายสารพันธุกรรมใน DNA ในคนงานด้วย “เราก็ตรวจในร่างกายคน ตรวจทั้งในเลือดและปัสสาวะ ดูว่ามีการเปลี่ยนแปลงของสารพันธุกรรมหรือไม่ เพราะระยะเริ่มต้นของการเป็นมะเร็งคือการเปลี่ยนแปลงพันธุกรรม โดยจะมีการแตกหักของสายดีเอ็นเอ ซึ่งปกติร่างกายก็มีการแตกหัก แต่จะมีการซ่อมแซมได้ แต่กับคนที่ได้รับควันธูปเป็นประจำพบว่ามีการแตกหักเพิ่มขึ้น และมีการซ่อมแซมลดลง สุดท้ายก็จะเกิดการเปลี่ยนแปลงในพันธุกรรม เซลล์จะกลายเป็นเซลล์ใหม่ซึ่งมีการแบ่งตัวถาวร ไม่มีการหยุดเลย""กล่าวโดยสรุปก็คือ การหายใจเอาควันธูปเข้าไปทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงขั้นต้นในห้องปฏิบัติการอย่างชัดเจน โดยเปรียบเทียบกับคนที่ไม่ได้สูดควัน และเพื่อให้ผลที่ได้มีความน่าเชื่อถือมากที่สุด คนที่เรานำมาตรวจจะต้องเป็นเพศเดียวกัน อายุใกล้เคียงกัน ไม่สูบบุหรี่เหมือนกัน และเลือกวัดต่างจังหวัดเพื่อหลีกเลี่ยงมลพิษจากท่อไอเสีย ” อย่างไรก็ตามแม้ในทางการแพทย์จะไม่มีใครยืนยันได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ถึงสาเหตุที่แท้จริงของมะเร็ง แต่ข้อมูลจากการวิจัยหลายชิ้นก็เป็นไปในทิศทางเดียวกันว่า ความผิดปกติแรกเริ่มเกิดขึ้นจากการแตกหักของสาย DNA “การเข้าสู่ร่างกายจนเกิดการเปลี่ยนแปลงมีความสัมพันธ์กับปริมาณและเวลา สะสมมากขึ้น นานมากขึ้น สุดท้ายการเปลี่ยนแปลงก็จะถึงขั้นที่มันเปลี่ยนตัวเอง ซ่อมแซมไม่ได้ เปลี่ยนเป็นเซลล์ใหม่ เซลล์นั้นพันธุกรรมมันเปลี่ยนแล้วมันก็กลายตัวไปเอง แต่เราไม่สามารถพิสูจน์ว่าเป็นมะเร็งจริงหรือเปล่า และในความเป็นจริงก็อาจจะไม่จำเป็นต้องเป็นมะเร็งปอด อาจกลายเป็นมะเร็งเม็ดเลือดขาว มะเร็งกระเพาะปัสสาวะ เพราะว่าสารที่ได้รับเข้าไปมันขับถ่ายทางกระเพาะปัสสาวะ และคนเราไม่ได้ฉี่ตลอดเวลา กลั้นไว้ ก็ถูกกักไว้ที่กระเพาะปัสสาวะ” ในความเห็นของคุณหมอ การดูแลสุขภาพ หลีกเลี่ยงปัจจัยที่ก่อให้เกิดโรค จึงเป็นทางเลือกที่ดีกว่าการหวังผลจากการรักษา ซึ่งควันธูปที่เราคุ้นเคยนี้นอกจากจะมีปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรคมะเร็งแล้ว ในเบื้องต้นยังมีผลต่อระบบทางเดินหายใจ และเป็นอันตรายต่อคนที่เป็นโรคภูมิแพ้ด้วย ธูปอโรมาอันตรายยิ่งกว่าธูป 1 ดอก ใช้ไหว้ศพ, ธูป 2 ดอก ใช้บูชาเจ้าที่, ธูป 3 ดอก ใช้บูชาพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์, ธูป 7 ดอก ไหว้พระพรหม, ธูป 8 ดอก บูชาเทพเจ้าของชาวฮินดู, ธูป 9 ดอก บูชาเทพารักษ์, ธูป 10 ดอก ใช้บูชาเจ้าที่ตามความเชื่อของชาวจีน, หลักปฏิบัตินี้แม้หลายคนจะรู้ แต่ถ้าถามถึงความเป็นมา คำตอบอาจไม่ชัดเจนนัก ตามประวัติ ธูปมีมาตั้งแต่สมัยอียิปต์โบราณ การจุดธูปเป็นพิธีกรรมที่ชาวอียิปต์ใช้สักการะเทพเจ้าด้วยควันที่มีกลิ่นหอม วัฒนธรรมนี้ได้แพร่ขยายไปยังประเทศกรีกและโรมันโบราณ กระทั่งเมื่อการจุดธูปเพื่อสื่อสารกับอำนาจเหนือธรรมชาติได้แพร่มาถึงประเทศอินเดียในศาสนาฮินดูและต่อมายังศาสนาพุทธ คนไทยและอีกหลายประเทศจึงรับเอาธรรมเนียมนี้มาใช้ จนถึงปัจจุบันคาดว่าในแต่ปีทั่วโลกมีคนจุดธูปทั้นับหมื่นนับแสนตัน สำหรับประเทศไทย ธูป ไม่เพียงมีรูปแบบและการใช้งานอย่างหลากหลาย อุตสาหกรรมการผลิตธูปยังถือว่ามีอนาคตสดใส ซึ่งถือเป็นโชคดีของคนผลิต เพราะตราบใดที่มันยังไม่ถูกจุด พวกเขาก็ปลอดภัยนพ.มนูญ กล่าวว่าอันตรายของธูปนั้นเกิดการเผาไหม้ เช่นเดียวกับการเผาไหม้สารอินทรีย์อื่นๆ เนื่องจากธูปเป็นเครื่องหอมที่ทำมาจากขี้เลื่อย กาว และน้ำมันหอม“การเอาน้ำหอมมาเผาจะกลายเป็นสารก่อมะเร็ง น้ำมันจากพืชทุกอย่างเป็นสารอินทรีย์เมื่อเผาไหม้จะเปลี่ยนรูปร่าง ซึ่งเรื่องนี้ต้องให้เครดิตห้องปฏิบัติการพิษวิทยาสิ่งแวดล้อมของสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ ที่ได้ทำการศึกษาวิจัยและมีการตีพิมพ์แล้ว และแม้ว่าอาจจะขัดกับความเชื่อของคนจำนวนหนึ่ง แต่ทำแล้วต้องบอก บอกข้อดีข้อเสีย” ตามปกติธูปหนึ่งดอกอาจเผาไหม้หมดในเวลา 20 นาที แต่หลายครั้งมันก็สามารถส่งกลิ่นและควันได้นานถึง 3 วัน 3 คืน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับขนาดและชนิดของธูป แน่นอนว่าระดับความอันตรายย่อมขึ้นอยู่กับปริมาณและระยะเวลาที่แต่ละคนสูดดมเข้าไป ซึ่งภัยใกล้ตัวนี้ไม่มียกเว้น แม้แต่ธูปอโรมาที่ใช้กันตามบ้านและในสปา “สารอโรมาอันตรายทั้งนั้น เราไปดูงานวิจัยของคนอื่นมา ธูปธรรมดากับธูปอโรมา ธูปอโรมาเมื่อมีการเผาไหม้จะมีการปล่อยเบนซีนออกมามากกว่าธูปธรรมดา เพราะว่าน้ำหอมอโรมาเวลาเผาเกิดสารอินทรีย์ระเหยง่าย คาร์บอนไดออกไซด์มากกว่า แต่ฝุ่นละอองน้อยกว่า" สรุปอย่างเป็นทางการก็คือ ขึ้นชื่อว่าเป็นธูปแล้วและเมื่อมันถูกจุด ผู้ที่สูดดมเป็นระยะเวลานานย่อมมีความเสี่ยงต่อการได้รับสารก่อมะเร็งที่ทำให้เกิดความผิดปกติต่างๆ ของสารพันธุกรรมและศักยภาพในการซ่อมแซมความผิดปกติของ DNA ลดลง ซึ่งความผิดปกติเหล่านี้เป็นกลไกส่วนหนึ่งในการเหนี่ยวนำให้เกิดโรงมะเร็ง ทว่านั่นไม่ใช่เหตุผลเดียวที่ทีมวิจัยเสนอให้ทุกคนไตร่ตรองให้มากขึ้นทุกครั้งที่จุดธูป ทั้งนี้เนื่องจากสิ่งที่น่าเป็นห่วงพอๆ กับปัญหาสุขภาพ ก็คือผลกระทบต่อภาวะโลกร้อน นพ.มนูญ ให้ข้อมูลอีกด้านหนึ่งว่า ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ไนโตรเจนไดออกไซด์ และมีเทน ที่ปล่อยออกมาพร้อมควันธูปล้วนเป็นส่วนหนึ่งของก๊าซเรือนกระจก “ทุกๆ 1 ตันของธูปจะปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ออกมาเท่ากับ 1 ใน 3 ของน้ำหนักธูป หากปีๆ หนึ่งทั้งโลกมีคนจุดธูปเป็นหมื่นถึงแสนตันจะมีก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และมีเทนออกมาเป็นจำนวนมหาศาล”ถึงตอนนี้หลายคนอาจกำลังคิดหาวิธีป้องกันตัวเองจากควันธูป และถ้าใครกำลังคิดจะหาผ้าปิดจมูกมาเป็นตัวช่วย ขอแสดงความเสียใจ เพราะสารเหล่านี้มีอณูเล็กมาก พวกมันสามารถทะลุทะลวงผ่านใยบางๆ ของผ้า ผ่านหลอดลมเข้าไปสู่ร่างกายเราได้อย่างง่ายดายด้วยเหตุนี้คุณหมอจึงเสนอวิธีการง่ายๆ ที่น่าจะช่วยบรรเทาพิษภัยของควันธูปได้ "เพียงแค่ดับธูปให้เร็วที่สุด" “ผมคิดว่าแต่ละวัดน่าจะมีที่ใส่น้ำเตรียมไว้ เมื่อคนจุดธูป อธิษฐานเรียบร้อยแล้ว ก็ให้ดับธูปก่อนที่จะนำไปปักในกระถางธูป เพื่อลดการเกิดควันซึ่งเป็นอันตราย” และเพื่อให้การรณรงค์ในเรื่องนี้เกิดขึ้นอย่างจริงจัง นายแพทย์มนูญ ลีเชวงวงศ์ ได้ฝากกลอนสั้นๆ ไว้เตือนใจ"หยุดจุดธูป ลดคาร์บอน ช่วยโลกร้อน หย่อนควันพิษ ทอนฤทธิ์มะเร็ง"สุดท้ายจะเลือกจุดธูปเพื่ออธิษฐานให้สุขภาพแข็งแรง หรือจะดับธูปเพื่อรักษาสุขภาพ ก็อยู่ที่การตัดสินใจของคุณ...



ที่มาhttp://campus.sanook.com/u_life/knowledge_06024.php

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น